เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร]
เรื่องการถึงความบริสุทธิ์ที่ถึงยอดและถึงแก่น

“นิโครธ บุคคลผู้บำเพ็ญตบะในโลกนี้ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร 4 ประการ
บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ เป็นผู้สำรวมด้วยสังวร 4 ประการ เป็นอย่างไร
คือ ฯลฯ
นิโครธ การที่บุคคลผู้บำเพ็ญตบะ จะเป็นผู้สำรวมด้วยสังวร 4 ประการได้
ก็เพราะเขามีสิ่งที่กำลังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ โดยความเป็นผู้บำเพ็ญตบะ เขารักษา
ศีลให้ยิ่ง ไม่กลับมาเป็นคฤหัสถ์ พักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด ฯลฯ
เขาละนิวรณ์ 5 ประการนี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองจิต ทอนกำลังปัญญา
มีเมตตาจิต ฯลฯ
มีอุเบกขาจิต แผ่ไปตลอดทิศที่ 1 ... ทิศที่ 2 ... ทิศที่ 3 ... ทิศที่ 4 ...
ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเฉียง แผ่ไปตลอดโลกทั่วทุกหมู่เหล่าในที่ทุกสถาน
ด้วยอุเบกขาจิตอันไพบูลย์ เป็นมหัคคตะ ไม่มีขอบเขต ไม่มีเวร ไม่มีความ
เบียดเบียนอยู่
เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ 1 ชาติบ้าง 2 ชาติบ้าง 3 ชาติบ้าง
4 ชาติบ้าง 5 ชาติบ้าง ฯลฯ เขาระลึกชาติก่อนได้หลายชาติพร้อมทั้งลักษณะ
ทั่วไปและชีวประวัติอย่างนี้
เขาเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม
เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์
เขารู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ผู้เจริญเหล่านี้ที่ประกอบ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิด และ
ชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดใน
อบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์เหล่านี้ ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต
และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรม
ตามความเห็นชอบ พวกเขาหลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เขาเห็น
หมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม อย่างนี้แล
นิโครธ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วย
ตบะ เป็นลัทธิที่บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :52 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [2. อุทุมพริกสูตร]
คำสารภาพผิดของนิโครธปริพาชก

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นดังว่ามานี้ การกีดกันบาปด้วยตบะ เป็นลัทธิ
ที่บริสุทธิ์แน่นอน ไม่ใช่ไม่บริสุทธิ์ เป็นลัทธิที่ถึงยอดและถึงแก่น1”
[74] “นิโครธ การกีดกันบาปด้วยตบะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ เป็นลัทธิที่ถึง
ยอดและถึงแก่น ท่านกล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘ธรรมอะไรที่พระผู้มีพระภาคทรงใช้
แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่าสาวกที่พระผู้มีพระภาคทรงแนะนำแล้ว ถึงความ
เบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง’ เหตุอันยอดเยี่ยมกว่า และ
ประณีตกว่าที่ว่ามาแล้วนั่นแหละ เป็นธรรมที่เราใช้แนะนำเหล่าสาวก ทำให้เหล่า
สาวกที่เราแนะนำแล้วถึงความเบาใจ ปฏิญาณอาทิพรหมจรรย์อันเป็นที่พึ่งชั้นสูง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนั้นแล้ว ปริพาชกเหล่านั้น ส่งเสียงอื้ออึงว่า
“ในเรื่องนี้พวกเรากับอาจารย์ฉิบหายละ ในเรื่องนี้พวกเรากับอาจารย์วอดวายละ
พวกเราไม่รู้มากยิ่งไปกว่านี้เลย”

คำสารภาพผิดของนิโครธปริพาชก

[75] เมื่อสันธานคหบดีทราบว่า บัดนี้ อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านี้ตั้งใจฟัง
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตลงสดับ ไม่ส่งจิตไปในที่อื่นโดยแท้ จึงได้
กล่าวกับนิโครธปริพาชกว่า “ท่านนิโครธ ท่านได้กล่าวกับเราอย่างนี้ว่า ‘คหบดี
ท่านพึงทราบเถิด พระสมณโคดมจะเจรจากับใครได้ จะสนทนากับใครได้ จะมี
ปัญญาเฉลียวฉลาดเหนือกว่าใคร พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่าง
เท่านั้น พระสมณโคดมไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์
ประทับอยู่ ณ ภายในที่สงัดเท่านั้น เหมือนโคตาบอดเดินวนเวียนอยู่ ณ ภายในที่
สงัดเท่านั้น พระปัญญาของพระสมณโคดมเหมาะกับเรือนว่าง พระสมณโคดม
ไม่กล้าเข้าไปสู่บริษัท ไม่สามารถที่จะเจรจาได้ พระองค์ประทับอยู่เฉพาะภายใน

เชิงอรรถ :
1 ถึงยอดและถึงแก่น ในที่นี้หมายความว่าถึงยอดและถึงแก่นตามลัทธิเดียรถีย์ ซึ่งมีอุปมาว่า ลาภสักการะ
เหมือนกิ่งไม้และใบไม้ ศีล 5 เหมือนสะเก็ดไม้ สมาบัติ 8 เหมือนเปลือกไม้ ปุพเพนิวาสานุสสติ (ญาณ
ที่ทำให้ระลึกชาติได้) และอภิญญาอันเป็นที่สุดเป็นกระพี้ไม้ ทิพพจักขุ (ญาณที่ทำให้มีตาทิพย์) เหมือนแก่นไม้
ส่วนความหมายตามพระพุทธศาสนามีอุปมาว่า ลาภสักการะเหมือนกิ่งไม้และใบไม้ ปาริสุทธิศีล 4
เหมือนสะเก็ดไม้ ฌานสมาบัติเหมือนเปลือกไม้ อภิญญาที่เป็นโลกิยะเหมือนกระพี้ไม้ มรรคผลเหมือนแก่นไม้
(ที.ปา.อ. 74/25)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :53 }